โรคพืชที่เป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในการทำเกษตรกรรม โดยสร้างผลเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก โรคพืชเป็นอาการของพืชที่ผิดไปจากปกติ ซึ่งอาจเกิดขึ้นกับส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นพืช หรือตลอดทั้งต้น และรวมไปจนถึงการแห้งตายไปทั้งต้น โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคพืชมี 2 สาเหตุคือ เกิดจากสิ่งมีชีวิต เช่น เชื้อโรคจำพวก รา ไวรัส และแบคทีเรีย และเกิดจากสิ่งไม่มีชีวิต เช่น สภาวะความเป็นกรดของดิน พิษจากสารเคมีต่าง ๆ รวมถึงการขาดธาตุอาหาร เป็นต้น (Leksomboon, 2014)
ความเสียหายเนื่องจากโรคพืชชนิดต่าง ๆ สามารถประเมินมูลค่าในทางเศรษฐกิจได้ในรูปแบบคือ ปริมาณหรือคุณภาพของผลผลิตที่ลดลง รวมถึงการเพิ่มต้นทุนการผลิตเพื่อการจัดการและควบคุมโรคพืชชนิดต่าง ๆ ไม่ให้ทำลายผลผลิต การลงทุนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้แรงงาน การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือการใช้เครื่องจักรกลเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดผลเสียหายที่ประเมินค่าทางเศรษฐกิจได้ยาก กล่าวคือผลเสียหายที่วัดหรือเปรียบเทียบกับการไม่เกิดโรคพืชได้ยาก เช่น ผลเสียเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และมลภาวะจากการใช้สารเคมีในการกำจัดโรคพืช พิษอันเกิดจากใช้สารเคมีอย่างไม่ถูกต้อง การใช้ผิดประเภท หรือ การใช้อย่างไม่ระมัดระวัง ทำให้สารเคมีแพร่กระจายไปในสิ่งแวดล้อม เช่น พืชบริเวณใกล้เคียง ดิน แหล่งน้ำ สัตว์ อากาศ แล้วไปสู่ตัวเกษตรกรเองรวมถึงผู้บริโภคด้วย
ประเทศไทยมีโรคสำคัญ และทำความเสียหายให้กับพืชเศรษฐกิจหลายชนิดด้วยกัน เช่น โรคต่างๆของข้าว โรคโคนเน่าของทุเรียนและส้ม โรคของฝ้าย โรคราน้ำค้างของข้าวโพด โรคเน่าเละของผักต่างๆ รวมทั้งโรคใบด่าง ใบหงิก ที่เกิดจากเชื้อไวรัสของพืชหลายชนิด เช่น พริก มะเขือเทศ กล้วยไม้ เป็นต้น ดังนั้น เราจึงควรให้ความสนใจ และร่วมมือกันป้องกัน และกำจัดโรคพืชต่างๆ มิฉะนั้น อาจทำให้เราประสบปัญหาการขาดแคลนอาหาร หรือได้ผลผลิตของพืชน้อยลง (สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
โรคที่เกิดจากเชื้อราในพืช เป็นโรคที่ป้องกันกำจัดยากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับโรคอื่น ๆ เชื้อราก่อโรคพืชเหล่านี้สร้างความเสียหายอย่างมากต่อคุณภาพผลผลิตพืชไร่ ผลไม้ และพืชสำหรับบริโภคทุกชนิด สิ่งเหล่านี้กลายเป็นปัญหามากขึ้นเรื่อย ๆ ต่อสุขภาพและเศรษฐกิจโลกในศตวรรษนี้ (Yang, J. et al., 2017) เกษตรกรจึงต้องใช้หลายวิธีการร่วมกัน คือ พ่นสารเคมีทางใบ ฉีดสารเคมีเข้าลำต้น และ ถากเปลือกลำต้นบริเวณแผลเน่า แล้วทาด้วยสารเคมี แม้กระนั้นก็เป็นเพียงแค่การรักษาโรคได้เพียงชั่วคราว หรือเป็นการยืดเวลาให้ต้นพืชที่เป็นโรคให้ทรุดโทรมช้าลงเท่านั้น พืชเศรษฐกิจที่มักพบปัญหาที่เกิดจากเชื้อราทำให้ผลผลิตตกต่ำไม่ได้คุณภาพ ได้แก่ ไม้ผล จำพวก ทุเรียน ส้ม และพืชผัก เช่น มะเขือเทศ
ปัญหาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย การนำเข้าและใช้สารเคมีเหล่านี้โดยไม่มีการควบคุม และจัดการอย่างมีประสิทธิภาพจะส่งผลให้เกิดปัญหาผลกระทบ หลายด้าน เช่น ผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกร เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะบริเวณเพาะปลูก การตกค้างในผักและผลไม้ในปริมาณมากจนส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค รวมถึงมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร เป็นต้น
จากรายงานของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในช่วง 10 เดือนระหว่าง ต.ค. 2561 ถึง ก.ค. 2562 พบผู้ป่วยเข้ารับการรักษาพยาบาลเนื่องจากสารเคมีการเกษตร 3,087 คน และในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตถึง 407 คน คิดเป็นร้อยละ 13 และมากขึ้นทุก ๆ ปี เป็นสาเหตุให้ภาครัฐต้องเสียงบประมาณในการบริหารจัดการ ซึ่งก็มีผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจประเทศเช่นกัน
การนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมีแนวโน้มสูงขึ้นแทบทุกปี จากข้อมูลของสำนักงานควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ในปี พ.ศ. 2558-2562 พบว่ามีปริมาณและการนำเข้าของสารเคมีป้องกันและกำจัดโรคพืช (fungicide) มูลค่า 3,839 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 6,642 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2562 คิดเป็นมูลค่า 2,803 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 73 โดยมีการนำเข้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีนมากที่สุด
การใช้สารเคมีในการควบคุมโรคอย่างต่อเนื่องได้สร้างปัญหาแก่การผลิตในระยะยาว เช่น ปัญหาด้าน เศรษฐกิจ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ปัญหาด้านโรคและแมลงศัตรูพืชที่มักเกิดความต้านทานต่อสารเคมี ปัญหาสุขภาพอนามัยของเกษตรกรผู้ใช้ รวมถึงปัญหาสารพิษตกค้างในผลผลิตซึ่งมีผลกระทบต่อผู้บริโภคและปัญหาสารพิษตกค้าง หรือปนเปื้อนในสภาพแวดล้อมได้ (Ungsoongnern, 2015) ดังนั้น จึงได้มีการศึกษาวิจัยเพื่อหาวิธีการใหม่ ๆ ในการป้องกันและกำจัดโรคพืชทดแทนการใช้สารเคมี เช่น การใช้พืชที่มีความสามารถในการต้านทานโรค การใช้วิธีการเขตกรรม การใช้วิธีการป้องกันควบคุมโรคด้วยวิธีการทางชีวภาพ (ศิริลักษณ์ กมลวรรณสิทธิ์ ขวัญใจ หรูพิทักษ์ และเอกรัฐ คาเจริญ 2562) การใช้สารสกัดจากธรรมชาติที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของโรคในพืช ก็เป็นวิธีที่มีความปลอดภัยต่อเกษตรกร ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมบริเวณที่ปลูก ไม่สะสมในผลผลิต ทำให้ปลอดภัยต่อผู้บริโภค สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตรได้
เอกสารอ้างอิง
- กรมวิชาการเกษตร โรคพืช https://www.doa.go.th/share/attachment.php?aid=2887
- สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2562 ความรู้ในการกำจัดโรคพืช พิมพ์ครั้งที่ 1 สถาบันส่งเสริม และพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ https://www.opsmoac.go.th/nongkhai-article_prov-files-421591791860
- สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รอบรู้โรคพืช https://www.opsmoac.go.th/singburi-local_wisdom-files-411091791798
- Jun Yang, Tom Hsiang, Vijai Bhadauria, Xiao-Lin Chen, Guotian Li, “Plant Fungal Pathogenesis”, BioMed Research International, vol. 2017, Article ID 9724283, 2 pages, 2017. https://doi.org/10.1155/2017/9724283