• English
  • ไทย
  • โรคในข้าว

    ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย โดยเป็นแหล่งอาหารหลักของประชาชนและสัตว์เลี้ยง อย่างไรก็ดี ข้าวยังอาจเกิดโรคต่างๆ ขึ้นได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อผลผลิตและคุณภาพของข้าว โรคในข้าวสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายประเภทตามสาเหตุการเกิดโรค ได้แก่ มีเชื้อสาเหตุ เช่น โรคที่เกิดจากเชื้อรา แบคทีเรีย ไวรัส ไฟโตพลาสมา ไส้เดือนฝอย รวมถึงไม่ทราบสาเหตุ และโรคที่ไม่มีเชื้อสาเหตุ แบ่งโรคข้าวตามระยะการเจริญเติบโตได้ดังนี้ 

    โรคข้าวที่สำคัญมีดังนี้ 

    โรคที่เกิดจากเชื้อรา

    โรคที่สำคัญ ได้แก่ โรคไหม้ โรคใบจุดสีน้ำตาล

    1. โรคไหม้ (Rice Blast Disease) 

    พบทุกภาคในประเทศไทย ในข้าวนาสวน ทั้งนาปีและนาปรัง และข้าวไร่ 

    สาเหตุ เชื้อรา Pyricularia oryzae 

    รูปที่ 1 โรคใบไหม้ในข้าว

    ระยะกล้า ใบมีแผล จุดสีน้ำตาลคล้ายรูปตา มีสีเทาอยู่ตรงกลางแผล ความกว้างของแผลประมาณ 2-5 มิลลิเมตร และความยาวประมาณ 10-15 มิลลิเมตร แผลสามารถขยายลุกลามและกระจายทั่วบริเวณใบ ถ้าโรครุนแรงกล้าข้าวจะแห้งฟุบตาย อาการคล้ายถูกไฟไหม้ 

    ระยะแตกกอ อาการพบได้ที่ใบ ข้อต่อของใบ และข้อต่อของลำต้น ขนาดแผลจะใหญ่กว่าที่พบในระยะกล้า แผลลุกลามติดต่อกันได้ที่บริเวณข้อต่อ ใบจะมีลักษณะแผลช้ำสีน้ำตาลดำ และมักหลุดจากกาบใบเสมอ 

    ระยะออกรวง (โรคไหม้คอรวง หรือ โรคเน่าคอรวง) ถ้าข้าวเพิ่งจะเริ่มให้รวง เมื่อถูกเชื้อราเข้าทำลาย เมล็ดจะลีบหมด แต่ถ้าเป็นโรคตอนรวงข้าวแก่ใกล้เก็บเกี่ยว จะปรากฏรอยแผลช้ำสีน้ำตาลที่บริเวณคอรวง ทำให้เปราะหักง่าย รวงข้าวร่วงหล่นเสียหายมาก 

    การแพร่ระบาด พบโรคในแปลงที่ต้นข้าวหนาแน่น ทำให้อับลม ถ้าใส่ปุ๋ยไนโตรเจนสูงและมีสภาพแห้งในตอนกลางวันและชื้นจัดในตอนกลางคืน น้ำค้างยาวนานถึงตอนสายราว 9 โมง อากาศค่อนข้างเย็น อุณหภูมิประมาณ 22-25 oC ลมแรงจะช่วยให้โรคแพร่กระจายได้ดี 

    2. โรคใบจุดสีน้ำตาล (Brown Spot Disease) 

    พบใน ข้าวนาสวน (นาปีและนาปรัง) และข้าวไร่ ทุกภาคของประเทศไทย 

    สาเหตุ เชื้อรา Bipolaris oryzae  ชื่อเดิม Helminthosporium oryzae (Breda de Haan.) Shoemaker, 1959 

    รูปที่ 2 โรคใบจุดสีน้ำตาล

    โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย 

    1. โรคขอบใบแห้ง (Bacterial Leaf Blight Disease or Bacterial Blight Disease) 

    พบมาก ในนาน้ำฝน นาชลประทาน ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคใต้ 

    สาเหตุ เชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas oryzae pv. oryzae (ex Ishiyama) Swings et al

    รูปที่ 3 โรคขอบใบแห้ง 

    อาการ โรคนี้เป็นได้ตั้งแต่ระยะกล้า แตกกอ จนถึงฺ ออกรวง ต้นกล้าก่อนนำไปปักดำจะมีจุดเล็กๆ ลักษณะช้ำที่ขอบใบของใบล่าง ต่อมาประมาณ 7-10 วัน จุดช้ำนี้จะขยายกลายเป็นทางสีเหลืองยาวตามใบข้าว ใบที่เป็นโรคจะแห้งเร็ว และสีเขียวจะจางลงเป็นสีเทาๆ อาการในระยะปักดำจะแสดงหลังปักดำแล้วหนึ่งเดือนถึงเดือนครึ่ง ใบที่เป็นโรคขอบใบมีรอยขีดช้ำ ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ที่แผลมีหยดน้ำสีครีมคล้ายยางสนกลม ๆ ขนาดเล็กเท่าหัวเข็มหมุด ต่อมาจะกลายเป็นสีน้ำตาลและหลุดไปตาม น้ำหรือฝน ซึ่งจะทำให้โรคสามารถระบาดต่อไปได้ แผลจะขยายไปตามความยาวของใบ บางครั้งขยายเข้าไปข้างในตามความกว้างของใบ ขอบแผลมีลักษณะเป็นขอบลายหยัก แผลนี้เมื่อนานไปจะเปลี่ยนเป็นสีเทา ใบที่เป็นโรค ขอบใบจะแห้งและม้วนตามความยาว ในกรณีที่ต้นข้าวมีความอ่อนแอต่อโรคและเชื้อโรคมีปริมาณมาก จะทำให้ท่อน้ำท่ออาหารอุดตัน ต้นข้าวจะเหี่ยวเฉาและแห้งตายทั้งต้นโดยรวดเร็ว เรียกอาการของโรคนี้ว่า ครีเสก (kresek) 

    การแพร่ระบาด เชื้อสาเหตุโรคสามารถแพร่ไปกับน้ำ ในสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นสูง และสภาพที่มีฝนตก ลมพัดแรง จะช่วยให้โรคแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางรวดเร็ว 

    2. โรคใบขีดโปร่งแสง (Bacterial Leaf Streak Disease) 

    พบมาก ในนาน้ำฝน และ นาชลประทาน ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคใต้ 

    สาเหตุ เชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas oryzae pv. oryzicola (Fang et al.) Swings et al. 

    รูป 4 อาการของโรคใบขีดโปร่งแสง

    อาการ โรคนี้เป็นได้ตั้งแต่ระยะข้าวแตกกอจนถึงฺออกรวง อาการปรากฏที่ใบ เริ่มแรกเห็นเป็นขีดช้ำยาวไปตามเส้นใบ ต่อมาค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือส้ม เมื่อแผลขยายรวมกันก็จะเป็นแผลใหญ่ แสงสามารถทะลุผ่านได้ และพบแบคทีเรียในรูปหยดน้ำสีเหลืองคล้ายยางสนกลมๆ ขนาดเล็กเท่าหัวเข็มหมุดปรากฏอยู่บนแผล ความยาวของแผลขึ้นอยู่กับความต้านทานของพันธุ์ข้าว และความรุนแรงของเชื้อ ในพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรค แผลจะขยายจนใบไหม้ไปถึงกาบใบ ลักษณะของแผลจะคล้ายคลึงกับเกิดบนใบ ส่วนในพันธุ์ต้านทาน จำนวนแผลจะน้อยและแผลจะไม่ขยายตามความยาวของใบ รอบๆ แผลจะมีสีน้ำตาลดำ

    การแพร่ระบาด ในสภาพที่มีฝนตก ลมพัดแรง จะช่วยให้โรคแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางรวดเร็ว และถ้าสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม ใบข้าวที่แตกใหม่ อาจไม่แสดงอาการโรคเลย 

    การป้องกันกำจัด

    • ในดินที่อุดมสมบูรณ์ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมาก 
    • ไม่ควรปลูกข้าวแน่นเกินไปและอย่าให้ระดับน้ำในนาสูงเกินควร 

    โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส 

    โรคที่สำคัญ ๆ ได้แก่ โรคใบสีส้ม โรคใบสีแสด โรคเหลืองเตี้ย โรคเขียวเตี้ยและโรคจู๋ อย่างไรก็ตาม โรคเหล่านี้บางโรคต่อมาได้พบว่า ไม่ได้เกิดจากเชื้อ ไวรัส แต่เกิดจากเชื้อไมโครพลาสมา (microplasma) 

    1. โรคใบหงิก (โรคจู๋) (Rice Ragged Stunt Disease) 

    พบมาก ในนาชลประทาน ภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง 

    สาเหตุ เชื้อไวรัส Rice Ragged Stunt Virus (RRSV) 

    รูปที่ 5 อาการของโรคใบหงิก 
    รูปที่ 6 ลักษณะการดูดกินของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล 

    อาการ ต้นข้าวเป็นโรคได้ ทั้ง ระยะกล้า แตกกอ ตั้งท้อง อาการของต้นข้าวที่เป็นโรค สังเกตได้ง่าย คือ ข้าวต้นเตี้ยกว่าปกติ ใบแคบและสั้นสีเขียวเข้ม แตกใบใหม่ช้ากว่าปกติ แผ่นใบไม่สมบูรณ์ ปลายใบบิดเป็นเกลียว ขอบใบแหว่งวิ่นและเส้นใบบวมโป่งเป็นแนวยาวทั้งที่ใบและกาบใบ ข้าวที่เaป็นโรคออกรวงล่าช้าและให้รวงไม่สมบูรณ์ เมล็ดลีบ ผลผลิตลดลง 30 ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ และข้าวพันธุ์อ่อนแอที่เป็นโรคในระยะกล้า ต้นข้าวอาจตายและไม่ได้ผลผลิตเลย 

    การแพร่ระบาด เชื้อไวรัสสาเหตุโรคถ่ายทอดได้โดยแมลงพาหะ คือ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และเชื้อไวรัสสามารถคงอยู่ในตอซัง และหญ้าบางชนิด 

    2. โรคใบสีส้ม (Rice Tungro Disease or Yellow Orange Leaf Disease) 

    พบมาก ในนาชลประทาน ภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง 

    สาเหตุ เชื้อไวรัส Rice Tungro Bacilliform Virus (RTBV) และ Rice Tungro Spherical Virus (RTSV) 

    อาการ ต้นข้าวเป็นโรคได้ ทั้งระยะกล้า แตกกอ ตั้งท้อง หากข้าวได้รับเชื้อในระยะกล้าถึงระยะแตกกอ ข้าวจะเสียหายมากกว่าได้รับเชื้อในระยะตั้งท้องถึงระยะออกรวง ข้าวเริ่มแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อ 15-20 วัน อาการเริ่มต้นใบข้าวจะเริ่มมีสีเหลืองสลับเขียว ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เริ่มจากปลายใบเข้าหาโคนใบ ถ้าเป็นรุนแรงในระยะกล้าต้นข้าวอาจถึงตาย ต้นที่เป็นโรคจะเตี้ยแคระแกรน ช่วงลำต้นสั้นกว่าปกติมาก ใบใหม่ที่โผล่ออกมามีตำแหน่งต่ำกว่าข้อต่อใบล่าสุด ถ้าเป็นรุนแรงอาจตายทั้งกอ ถ้าไม่ตายจะออกรวงล่าช้ากว่าปกติ ให้รวงเล็ก หรือไม่ออกรวงเลย 

    รูปที่ 7 โรคใบส้ม 

    การแพร่ระบาด เชื้อไวรัสสาเหตุโรคถ่ายทอดได้โดยแมลงพาหะ คือ เพลี้ยจักจั่นสีเขียว 

    รูปที่ 8 เพลี้ยจักจั่นสีเขียว 

    โรคที่เกิดจากเชื้อไฟโตพลาสมา 

    1. โรคเหลืองเตี้ย (Yellow Dwarf Disease) 

    พบมาก ในนาชลประทาน ภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง 

    สาเหตุ เกิดจากเชื้อไฟโตพลาสมา 

    อาการ โรคนี้พบในระยะข้าวแตกกอถึงระยะออกรวง ใบที่ออกใหม่มีอาการเหลืองซีด ต้นเตี้ย แตกกอมากเป็นพุ่มแจ้ ต้นเป็นโรคอาจตายหรือไม่ออกรวง ถ้าต้นข้าวได้รับเชื้อใกล้ระยะออกรวง จะไม่แสดงอาการ แต่จะแสดงอาการในลูกข้าวที่งอกจากตอซัง 

    การแพร่ระบาด เชื้อสาเหตุโรคถ่ายทอดได้โดยแมลงพาหะ คือ เพลี้ยจักจั่นสีเขียว 

    รูปที่ 8 โรคเหลืองเตี้ย 

    แหล่งอ้างอิง 

    1. กองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว องค์ความรู้เรื่องข้าว
      https://newwebs2.ricethailand.go.th/webmain/rkb3/Disease.htm 
    1. มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน 
      https://www.saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=3&chap=1&page=t3-1-infodetail10.html